FTAVSWTO ว่าด้วยการเจรจา การค้านอกกรอบ

ความล้มเหลวของการเจรจาการค้าโลกที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ในปี 2546 ก่อนที่จะเริ่มต้นรอบใหม่ หรือที่รู้จักกันดีในนาม การค้าโลกรอบโดฮา นั้น ปรากฏ การณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศสมาชิก WTO ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันก็คือ ความไม่มั่นใจว่าการเจรจาการค้าโลกจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นประเทศคู่ค้าหลายประเทศในหลายภูมิภาคจึงเริ่มต้นเปิดการเจรจาการค้า 2 ฝ่าย (ทวิภาคี) ว่าด้วยการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน (FTA) ควบคู่ไปกับการเจรจาการค้าโลกด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ ประเทศไทย ด้านหนึ่งยังคงให้ความกระตือรือร้นในการเจรจาการค้าโลก แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลไทยก็มีนโยบายที่จะเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญๆ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น FTA ไทย-ออสเตรเลีย, FTA ไทย-นิวซีแลนด์, FTA ไทย-อินเดีย และบัญชีสินค้าเร่งลดภาษี (ผัก/ผลไม้) ระหว่างไทย-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเรียบร้อยแล้ว ยังไม่นับที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาอีก ไม่ว่าจะเป็นเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กับเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ เป็นต้น

แน่นอนว่า ข้อตกลง FTA ในหลายเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันกับที่กำลังเจรจากันใน WTO ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาด-การลดภาษี-การค้าบริการ เพียงแต่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความตกลงระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าที่พร้อมจะเปิดเสรีระหว่างกัน ไม่เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิก WTO

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่งผลให้การเจรจา WTO ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศที่จัดทำข้อตกลง FTA อีกแล้ว เพราะไม่ว่าการเจรจาการค้าโลกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ประเทศที่ทำ FTA กลับมีหลักประกันแล้วว่า จะสามารถดำเนินการค้าระหว่างกันภายใต้กติกาที่ "เหนือกว่า" ข้อตกลงทางการค้าใน WTO ตราบเท่าที่ WTO ยังไม่สามารถตกลงกันได้

คำถามก็คือว่า นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ในฐานะผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ที่พยายามผลักดันการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาให้มีความคืบหน้าในเทอมการดำรงตำแหน่ง 3 ปีคิดอย่างไร ในประเด็นนี้ นายศุภชัยได้ออกตัวว่า จะไม่พูดว่า FTA ดีหรือไม่ดี แต่มีข้อสังเกตในเรื่องนี้อยู่ 5 ประการคือ

1) ข้อตกลง FTA ที่ทำระหว่างกันนั้น เป็นข้อตกลงที่มีมาตรฐานซ้อนมาตรฐานกับ WTO หรือไม่ ในเรื่องเดียวกันมี 2 มาตรฐานที่ให้ดำเนินการได้จะทำอย่างไร

2) สิ่งที่ได้ดำเนินการใน FTA ไปแล้ว จัดเป็นความตกลงระหว่างประเทศ 2 ประเทศ หรือประเทศ 2 ประเทศเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่ ความตกลงใน WTO จัดเป็นความตกลงที่ประเทศสมาชิก WTO ทั้งหมดจะต้องให้ความยอมรับร่วมกัน

3) กรณีเกิดข้อพิพาททางการค้าในประเทศคู่ค้าที่ทำ FTA ร่วมกัน จะต้องไปดำเนินการจัดการแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากันเอาเอง ไม่สามารถยกข้อพิพาทเข้ามาสู่กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ได้

4) การเจรจารอบโดฮาสำหรับประ เทศยากจนที่สุดมีหลักการว่า จะให้อย่างเดียว แต่การเจรจา FTA ต้องคำนึงว่า ฐานะประเทศที่จะทำ FTA นั้นมีความเท่าเทียมกันหรือไม่ หากประเทศคู่เจรจามีฐานะเหนือกว่า ในขณะที่อีกประเทศมีความต้องการที่จะทำ FTA ให้ได้ อะไรจะเกิดขึ้นกับข้อตกลงนั้น

และ 5) อาจจะกล่าวได้ว่า ในขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โรคแห่ หรือตามกันไป ในการทำข้อตกลง FTA ในแทบทุกภูมิภาค

ข้อสังเกตเหล่านี้ นายศุภชัยแนะนำให้ประเทศที่จะทำ FTA ศึกษาถึงผลดีผลเสียให้ดี ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งประเทศไทยที่ดูเหมือนว่า ในช่วงขวบปีนี้จะเร่งการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าทั้งในกรอบทวิภาคี หรือ FTA ในกรอบของอาเซียน เป็นกรณีพิเศษ

คัดลอกจากเว็บไซต์ของ

News12