การใช้มุ้ง วิธีการนี้เป็นวิธีที่สืบทอดกันมานานจากบรรพบุรุษ แต่เน้นว่ามุ้งที่นำมาใช้ต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ขาด ที่สำคัญควรคำนึงถึงทางด้านของขนาดเส้นด้ายที่นำมาทำมุ้งควรมีขนาดที่ยุงไม่สามารถบินเข้าไปได้ เช่นขนาด 1-1.8 มิลลิเมตร หรือเป็นตาข่ายขนาดช่องอยู่ที่ 150 ช่องต่อตารางนิ้ว แต่ปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำมุ้งชุบสารเคมีซึ่งใช้ในการป้องกันยุงได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดประชากรยุงที่มาเกาะ แต่วิธีการนี้ใช้ได้ผลเฉพาะยุงที่ออกมาหากินเวลากลางคืนแต่สำหรับยุงลายที่ออกหากินในเวลากลางวันนั้น ใช้วิธีการนี้ไม่ได้
การสวมเสื้อป้องกันร่างกายให้มิดชิด จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า การสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิดนั้นสามารถลดการติดโรคติดต่อที่เกิดจากยุงได้ เสื้อผ้าที่มีสีทึบเช่น สีดำ สีน้ำเงินเข้มนั้นมีผลทางด้านการดึงดูดความสนใจของยุงได้
การใช้สารทาป้องกันยุง สารทาป้องกันยุงหรือสารไล่ยุง (repellant) อาจเป็นสารเคมี หรือสมุนไพร ซึ่งเมื่อทาแล้วยุงจะได้กลิ่นและจะไม่เข้ามากัด หรือลดการกัดลงได้ สารทาป้องกันยุงที่เราเห็นในท้องตลาดส่วนใหญ่อาจพบในรูปแบบน้ำ ครีมหรือแป้งก็ได้ ซึ่งแต่ละบริษัทจะผลิตออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน สารที่เป็นส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่เป็นสารเคมีเช่น สาร N, N-diethyl-m- toluamide หรือชื่อใหม่ N,N-diethyl-3-methybenzamide (deef) , ethyl butyacetyl aminopropionate เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตสารที่ใช้ในการไล่ยุงจากสมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม มะกรูด ขมิ้นชัน ไพล สะระแหน่ ฯลฯ ประสิทธิภาพของสารไล่ยุงที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องผสมสารที่ช่วยในการจับยึดกับผิวจึงจะทำให้อยู่ได้นานเทียบเท่ากับสารเคมี เพราะถ้าไม่ผสมกลิ่นจะคงอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง การใช้สารป้องกันยุงนั้น ก่อนนำมาใช้ควรมีการทดสอบการแพ้ของสารที่ใต้ท้องแขนก่อนว่าแพ้สารเหล่านั้นหรือไม่ ประสิทธิภาพของสารไล่ยุงจะอยู่ติดทานนานแค่ไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับตัวของผู้ใช้ด้วย นั่นคือ ลักษณะผิว อายุ เพศ อุณหภูมิร่างกาย อาหารที่รับประทาน สารเคมีในเหงื่อ ซึ่งบ่อยครั้งที่เราจะพบเห็นว่ายุงกัดคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง
การใช้ยาจุดกันยุง ป้องกันได้โดยใช้สารระเหยออกฤทธิ์ขับไล่ยุง สารออกฤทธิ์บางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ในการเลือกซื้อควรตรวจดูสารออกฤทธิ์อย่างละเอียดควรเลือกสารที่มีอันตรายน้อย เช่นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ หรือสารสมุนไพร เพราะค่อนข้างปลอดภัยต่อมนุษย์
การใช้ตาข่ายป้องกันยุงกัน เป็นวิธีการที่ดี ตาข่ายที่ใช้อาจเป็นไนล่อนหรือลวด ติดตามประตู หน้าต่าง ซึ่งจะต้องมีการออกแบบอย่างดี ขนาดของมุ้งลวดที่เหมาะสมคือ 16-18 ต่อนิ้ว