รังของปลวก

สังคมปลวกจะใหญ่หรือจะเล็กขึ้นกับขนาดของรัง ลักษณะของรังแตกต่างกันไปตามชนิดและถิ่นที่พักอาศัย ปลวกใช้ดิน ของเสียและน้ำลายประกอบขึ้นเป็นรัง โครงสร้างของรังมีผลต่อนิเวศวิทยาของปลวก คือ การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม นิสัยการกินอาหาร และยังแสดงถึงวิวัฒนาการได้ (Lee 1971)
Noirot (1970) ได้แบ่งชนิดของรังปลวกไว้ 5 แบบคือ รังในเนื้อไม้ รังปลวกใต้ดิน (subterranean nests) รังเหนือดิน (epigeous nests) บนต้นไม้ (aboreal nests) และรังปลวกที่อาศัยอยู่กับรังเหนือพื้นดินอื่นๆ (inquilines) ต่อมา Abe (1978) ได้ศึกษาเกี่ยวกับรังปลวกในป่าขึ้นทางตะวันออกของประเทศมาเลเซีย ได้ตั้งชื่อรังปลวกขึ้นมาอีก 1 แบบคือ intermediate nests เป็นรังที่มีลักษณะร่วม ระหว่างปลวกใต้ดิน รังในเนื้อไม้และรังเหนือพื้นดิน ได้แก่ รังปลวกชนิด Hospitalitermes sp., Termes spp. , Porrhinotermes sp., Schedorrhinotermes spp., Pericopritermes spp.

Uichanco (1919) ศึกษาลักษณะรังปลวกเหนือพื้นดินในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลวกที่ไม่ทำลายไม้และสร้างเห็ดราไว้ในรัง พบว่ายอดรังมีลักษณะเป็นรูปกรวย ขนาดแตกต่างกันออกไป บางรังสูง 2 เมตร ผนังรังชั้นนอกประกอบด้วยดินเหนียวละเอียดแข็งมาก ภายในรังจะพบก้อนซึ่งมีลักษณะคล้ายฟองน้ำเรียกว่า สวนรังเห็ดรา (fungus comb) เป็นส่วนปลูกเห็ดของปลวกห่อหุ้มด้วยดินเหนียวละเอียดชื้นๆ มีทางเดิน (passage ways) ติดต่อกับส่วนรังเห็ดราก้อนอื่นๆ

t008 t006

Pangga (1936) รายงานเกี่ยวกับขนาดรังของปลวกบางชนิดในประเทศฟิลิปปินส์มีดังนี้
Macrotermes gilvus รังรูปโดม ฐานกว้าง ความกว้างของรัง 110.2-52.7 (76.03±6.31) เซนติเมตร สูง 121.4-46.3 (57.4±5.09) เซนติเมตร
Microtermes lasbanosensi สร้างรังเหนือพื้นดินหรือติดกับโคนต้นไม้ ความกว้างของรัง 33.6-19.2(24.1±0.52) เซนติเมตร สูง 16.2-51.5
(28.4±1.29) เซนติเมตร รูปร่างของรังมีหลายแบบเช่น รูปกรวย รูปไข่ และจะไม่มีพืชอาศัยอยู่บนรัง
Nasutitermes luzonicus สร้างรังที่โคนต้นไม้ โดยเฉพาะชอบอยู่ตามโคนต้นมะพร้าว รังกว้าง 9.6-17.3 (13.7±1.07) เซนติเมตร สูง 4.3-9.5 (7.14±0.84) เซนติเมตร
ที่มา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)