ทีวีพูลฟันธงอีก 2 ปีคนไทยมีสิทธิ์ซื้อทีวีใหม่ทั้งตลาด "พล.ท.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์" ชี้ทีวีทุกช่องได้ฤกษ์เปลี่ยนระบบสัญญาณจากอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล HDTV ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกระบบส่งสัญญาณจะใช้ของอังกฤษ อเมริกา หรือญี่ปุ่นดี ด้านผู้ประกอบการทีวีขานรับ "แอลจี-ซัมซุง-เจวีซี" ลั่นสถานีพร้อมก็พร้อมลุยทันที หลังจากนำล่องออกทีวีรุ่นไฮเอนด์ขนาด 29 นิ้ว,พลาสม่าทีวี และแอลซีดีทีวี เผยปัจจุบันทีวีทั้งตลาดมีมูลค่า 2.1-2.2 ล้านเครื่อง
ฟันธงยกเลิกทีวีอะนาล็อก แอลจี-ซัมซุง-เจวีซีพร้อมลุย ช่อง5รอเลือกระบบสัญญาณ
ทีวีพูลฟันธงอีก 2 ปีคนไทยมีสิทธิ์ซื้อทีวีใหม่ทั้งตลาด "พล.ท.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์" ชี้ทีวีทุกช่องได้ฤกษ์เปลี่ยนระบบสัญญาณจากอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล HDTV ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกระบบส่งสัญญาณจะใช้ของอังกฤษ อเมริกา หรือญี่ปุ่นดี ด้านผู้ประกอบการทีวีขานรับ "แอลจี-ซัมซุง-เจวีซี" ลั่นสถานีพร้อมก็พร้อมลุยทันที หลังจากนำล่องออกทีวีรุ่นไฮเอนด์ขนาด 29 นิ้ว,พลาสม่าทีวี และแอลซีดีทีวี เผยปัจจุบันทีวีทั้งตลาดมีมูลค่า 2.1-2.2 ล้านเครื่อง
พล.ท.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ในฐานะประธาน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีการศึกษาการเผยแพร่ในระบบดิจิตอลของสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยว่า ได้มอบหมายให้ทีมงานในทีวีพูลไปศึกษาความเป็นไปได้ และการปรับเปลี่ยนการส่งสัญญาณ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะเลือกใช้ระบบการส่งสัญญาณของอังกฤษ อเมริกา หรือญี่ปุ่น เมื่อได้ข้อสรุปแล้วทุกสถานีจะต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนพร้อมกัน
โดยในช่วงเริ่มต้น คาดว่าจะมีการส่งสัญญาณคู่กันทั้งระบบอะนาล็อค และระบบดิจิตอลไปก่อน จนกว่าเครื่องรับโทรทัศน์ของประชาชนทั่วไปจะปรับเปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลทุกครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเครื่องรับทีวีจากระบบอะนาล็อคเป็นดิจิตอลนั้น ผู้บริโภคจะต้องเพิ่มต้นทุนในส่วนนี้ประมาณ 10% จากเครื่องรับเดิมที่ใช้กันอยู่
"ขณะนี้มีข่าวออกมาแล้วว่า งานการผลิตชิ้นส่วนสำหรับทีวีในระบบอะนาล็อคจะหยุด หากเป็นเช่นนั้นจริง คงเกิดการปรับเปลี่ยนทั้งผู้ผลิตเครื่องรับทีวี และสถานีในประเทศไทยแน่นอน โดยคาดว่าหากมีการปรับเปลี่ยนจริง ภายในระยะเวลา 2 ปีจะได้เห็นการรับส่งสัญญาณในระบบดิจิตอล" พล.ท.เลิศฤทธิ์กล่าว
ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยทุกช่อง ปรับเปลี่ยนการส่งสัญญาณจากระบบอะนาล็อก มาเป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไอทีวี รวมทั้งยูบีซี เคเบิลทีวี และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (Satellite TV) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณเกือบ 10 ผู้ให้บริการ อาทิ ดีเอ็มซี ของวัดธรรมกาย, ช่องทีวีของธนาคารกสิกรไทย, ไทยเดย์ดอทคอม ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, ทีเอสซีของบริษัท เบรฟฮาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้สัมปทานจาก สปป.ลาว ทำสถานี ที-แชนแนล, กลุ่มอาร์เอ็นที, บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย และล่าสุด บริษัท บีทวีนมิลเลนเนี่ยม จำกัด จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเชี่ยน วิชั่น แชนแนล
นายฉันท์ชัย พันธุฟัก ผู้จัดการผลิตภัณฑ์กลุ่มเอวี บริษัท แอลจีมิตรอีเลคทรอนิคส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า "แอลจี" จากเกาหลี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความพร้อมในการทำตลาดทีวีสี เพื่อรองรับระบบสัญญาณดิจิตอล HDTV ว่า ถ้าสถานีโทรทัศน์ทุกช่องพร้อมในการส่งสัญญาณระบบดิจิตอล HDTV บริษัทก็พร้อมนำสินค้าป้อนตลาดทันทีเพราะมีสินค้ารองรับอยู่แล้ว
กลุ่มเอวีที่มีการผลิตในระบบดิจิตอลขณะนี้ เป็นกลุ่มไฮเอนด์เช่น ทีวีสี 29 นิ้วขึ้นไป พลาสม่าทีวี และ แอลซีดีทีวี โดยเฉพาะพลาสม่าทีวีแบรนด์แอลจีผลิตเป็นระบบดิจิตอลทุกรุ่นแล้ว โดยทีวี 29 นิ้วรุ่นไฮเอนด์ RT29FC90RB สินค้าป้อนตลาดต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ราคาต่อเครื่องประมาณ 29,900 บาท ส่วนแอลซีดีทีวี นำเข้ามาจำนวน 5 รุ่น มีขนาด 17 นิ้ว ขายที่ 39,900 บาท และขนาด 42 นิ้ว ขายราคา 359,000 บาท ซึ่งกลยุทธ์กระตุ้นการซื้อจะชูในเรื่องของเงินผ่อนดอกเบี้ย 0 % โดยจับมือกับอิออน,เฟิร์สช้อย,ซิตี้แบงก์ และบริษัทในระบบเงินผ่อนอื่นๆทุกบริษัท
สินค้ากลุ่มนี้ราคายังสูงการตอบรับของตลาดยังไม่มากเฉลี่ย 10 % ส่วนทีวีที่เป็นระบบอะนาล็อกในตลาดขณะนี้ยังเป็นตลาดใหญ่เฉลี่ย 90 % โดยเป็นจอแบนเฉลี่ย 80 % และเป็นจอโค้งเฉลี่ย 20 % ในซึ่งอนาคตถ้าสถานีโทรทัศน์ทุกช่องพร้อมบริษัทก็พร้อมเพราะวัตถุดิบจะแชร์กันทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งพลาสม่าทีวีระบบดิจิตอลประกอบในประเทศทั้งหมด ถ้าพูดเรื่องการลงทุนในแง่ผู้ผลิตไม่มีปัญหา
แต่ผู้ใช้คือผู้บริโภคที่ใช้ระบบทีวีระบบอะนาล็อกต้องเปลี่ยนทีวีใหม่ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมทีวีสีมีประมาณ 2.1-2.2 ล้านเครื่องต่อปี ถ้าผู้บริโภคไม่เปลี่ยนทีวีใหม่ก็ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มอีก 1 ตัว คือ เซ็ทท็อปบ็อกซ์ ตัวแปรงสัญญาณจากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล แต่ถ้าต้องการรับสัญญาณโดยตรงก็ต้องซื้อทีวีใหม่
ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดบริษัท ไทย ซัมซุง อีเล็คทรอนิคส์ จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มในการเปลี่ยนการรับสัญญาณโทรทัศน์ จากสัญญาณอนาล็อคมาเป็นสัญญาณดิจิตอล ว่า จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีนโยบายจากภาครัฐชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณ การผลิตทีวีในระบบอนาล็อค ก็ยังคงผลิตอยู่ แต่ก็มีการผลิตทีวีระบบดิจิตอลในรุ่นไฮเอนด์เช่นกันคือ ขนาด 29 นิ้วขึ้นไป
นายอัสนีย์ กาญจนสิงห์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวางแผนและการตลาด บริษัท เจวีซี เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีโรงงานผลิตทีวีที่สามารถรองรับระบบดิจิตอลได้ แต่ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศเพราะว่าที่อื่นมีระบบดังกล่าวรองรับไว้อย่างแน่ชัดแล้ว สำหรับประเทศไทยก็มีเพียงบางส่วนที่นำทีวีที่สามารถรองรับระบบดิจิตอลมาใช้ ซึ่งจะเน้นเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากเท่านั้น ขณะที่ความเป็นจริงฐานใหญ่ของตลาดทีวียังเป็นลูกค้าระดับล่างและกลาง