ในปัจจุบันในการป้องกันกำจัดปลวกที่ทำกันในส่วนใหญ่ จะมีส่วนประกอบของสารเคมีเกือบทั้งหมด โดยในแต่ละบริษัทก็จะใช้ชื่อของสารเคมีแตกต่างกันออกไป ชื่อของสารเคมีที่เราเรียกกันนั้นจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ ชื่อสามัญ และชื่อสารออกฤทธิ์ ซึ่งก็คือชื่อทางเคมีนั่นเอง สารเคมีกำจัดปลวกมีหลายชนิดตามสูตรที่แตกต่างกันไป สามารถแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ หรือลักษณะที่เรามองเห็นหรือสัมผัสได้ดังนี้
การแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ
- สูตรน้ำ (Liquid Formulations)
– สารเคมีน้ำเข้มข้น (Emulsifiable Concentrate) มีสภาพเป็นของเหลว ก่อน
ใช้งานต้องมีการผสมน้ำตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ ทำให้สารเคมีสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารเคมีที่ละลายน้ำแล้วจะมีสีขาวขุ่น ละลายเข้ากับน้ำได้ดี และดูดซึมเข้าผิวหนังได้ดีและบางชนิดมีกลิ่นแรง ส่วนใหญ่แล้วใช้เป็นแนวป้องกันปลวกเปรียบเสมือนแนวรั้วไม่ให้ปลวกเข้ามาบริเวณที่เราป้องกันไว้ นอกจากนี้ยังใช้ทาไม้ได้โดยตรง ตัวอย่างของสารกลุ่มนี้เช่นสารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเปอร์เมทริน
– สารเคมีผสมน้ำ (Water Miscible Liquids) ไม่มีน้ำมันเป็นตัวทำละลาย แต่จะละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ได้โดยตรง แต่เมื่อนำมาละลายน้ำแล้วสีจะไม่เหมือนน้ำนม ตัวอย่างของสารในกลุ่มนี้เช่น Boric acid ซึ่งใช้ในการทาไม้ป้องกันปลวก - สูตรแห้ง (Dry Formulations)
– สารเคมีผง สารเคมีประเภทนี้สามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องผสมน้ำ เป็นการผสมระหว่างสารออกฤทธิ์กับตัวช่วยในการเจือจางเช่น แป้งทาร์ค เถ้า ผงดินชนิดดินเหนียว ข้อจำกัดของสารประเภทนี้คือควรใช้ในบริเวณที่มิดชิด เพราะสารเคมีผงจะแพร่กระจายได้ง่าย ตัวอย่างของสารเคมีในกลุ่มนี้คือ สารหนู และ Diflubenzuron
– สารเคมีผงละลายน้ำ สารเคมีประเภทนี้เป็นสารเคมีผงที่ละลายน้ำได้เล็กน้อย ลักษณะจะคล้ายแป้งเปียก ก่อนใช้ต้องมีการผสมน้ำและคนให้เข้ากันเสียก่อน แต่ถ้าทิ้งไว้นานจะเกิดการตกตะกอน ตัวอย่างของสารในกลุ่มนี้เช่น Imidacloprid
– เหยื่อ สารกลุ่มนี้เป็นประเภทที่ให้ผลในการออกฤทธิ์ช้า และจะมีการผสมอาหารที่ปลวกชอบเช่นไม้ กระดาษ เพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อ ตัวอย่างของสารในกลุ่มนี้คือ Diflubenzuron, Sulfluramid และตัวอย่างของสารอีกกลุ่มที่เป็นตัวใหม่คือสารสกัดจากสมุนไพรไทยผสมในเหยื่อล่อปลวก ซึ่งให้ความปลอดภัยสูง - สูตรอื่น ๆ
– โฟมเหลวหรือมูส มีลักษณะคล้ายโฟมโกนหนวด ประโยชน์เพื่อให้สารเคมีแพร่กระจายไปในซอกต่างๆ ได้ดี
– สารเคมีผสมเยลลี่ นำไปใช้งานในรูปแบบของการฉีดเข้าไปในรอยแตกของเนื้อไม้ หรือรอยเจาะ น้ำยาจะค่อยๆ ละลายและซึมเข้าเนื้อไม้