1609225539

การใช้สารเคมีกำจัดเห็บ, หมัด และเหา

ถนอมจิตร สุวรรณศรี
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์
กลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

สารเคมีกำจัดหมัด เห็บ และ เหา มีหลายชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคมีกำจัดแมลง แต่ลักษณะการใช้ต่างกัน หมัด เห็บ และเหา จัดเป็นสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ ซึ่งเรียกว่าตัวเบียฬ หรือ พาราไซด์ (Parasite) เป็นตัวก่อให้เกิดพาหะนำโรคจากคน ไปสู่คน จากสัตว์ไปสู่สัตว์ หรือจากสัตว์ไปสู่คนอีกด้วย

หมัด (Flea)

จัดเป็นแมลงที่ไม่มีปีก จะเป็นพาราไซด์เฉพาะตัวโตเต็มวัย ในที่อุณหภูมิร้อนและแห้ง หมัดจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้ามีอาหารกิน คือได้ดื่มเลือดทุกวันจะมีอายุถึง 513 วัน ปกติจะพบหมัดบนตัวสัตว์ (Host) ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโรคเรื้อรังอยู่เป็นประจำ สัตว์ที่มีหมัดอยู่มากจะอยู่ไม่สุข ชอบเกาขนอยู่เป็นประจำ อารมณ์หงุดหงิด ถ้าสัตว์มีประสาทรับความรู้สึกไว อาจเกิดโรคผิวหนังอักเสบและเป็นการยากที่จะทำให้การอักเสบนี้เบาบางลงได้ หมัดที่พบมีหลายชนิด เช่น หมัดที่ชอบอยู่ตามตัวสุนัข หนู ไก่ แมว หมัดที่อยู่ตามซอกเล็บนิ้วหัวแม่เท้า หรือ ใต้ไรกีบ เช่น ของสุกร

การรักษา

ยาที่ให้ผลดีคือ โล่ติ๊น (Rotenone) โรยตามตัวหรือผสมน้ำ 1% อาบสัตว์ใช้ แกมมา-บีเอชซี (g> -BHC) 0.01% โรยตามตัวสัตว์ หรือ อาบก็ได้ สำหรับหมัดบนหงอนไก่ ใช้ มาลาไธออน (Malathion) 5% จะได้ผลดีที่สุด

ข้อควรระวัง
สุนัขและแมว อาจได้รับอันตรายจาก บีเอชซีได้ง่าย

เห็บ (Tick)

มีรูปร่างค่อนข้างกลม มองเห็นง่ายด้วยตาเปล่า เห็บจะดูดเลือดสัตว์ทุกชนิด ทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานด้วย เห็บนำเชื้อโรคต่างๆ มาสู่สัตว์ได้ ทำให้สุขภาพเสื่อม ผิวหนังถูกทำลาย และสัตว์มีอาการที่เรียกว่า “ทิค วอร์รี่(Tick worry)” โรคอีกชนิดหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการดูดเลือดของเห็บ คือ อัมพาต สาเหตุเนื่องจากเห็บปล่อยสารพิษเข้าไป ซึ่งพบได้จากเห็บตัวเมีย หรือตัวกลางวัย แต่ถ้าดึงเห็บออกให้หมด อาการป่วยของสัตว์อาจคืนสู่สภาพปกติได้ และทำให้สัตว์มีภูมิต้านทานสูง และภูมิต้านทานนี้จะอยู่นานถึง 8 เดือน เห็บมีหลายสกุลด้วยกัน บางสกุลเป็นเห็บของสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ห่าน นกกระสา นกพิราบ และนกป่าอื่นๆ และอาจดูดเลือดคนได้

การรักษา
เนื่องจากเห็บดูดเลือดทุกส่วนของร่างกายสัตว์ การรักษาจึงจำเป็นต้องให้ทุกส่วนของร่างกายถูกกับน้ำยาฆ่าเห็บ วิธีที่ดีที่สุดคือการจุ่มสัตว์ลงไปในบ่อน้ำยาทั้งตัว (Dipping) สำหรับลูกสัตว์เล็กๆและสัตว์ที่กำลังท้อง ควรฉีดพ่นยาบนตัวสัตว์ หรืออาบน้ำสัตว์ด้วยฝักบัวแทน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับสัตว์ทุกอายุ
นอกจากกนี้การควบคุมเห็บให้ได้ผลดีนั้นต้องทำการรักษาพื้นดิน แปลงหญ้า หรือคอกสัตว์ด้วย เนื่องจากเห็บส่วนมากวางไข่บนพื้นดิน ซึ่งสามารถทำได้โดย
1.รม หรือ อบคอกสัตว์ด้วยความร้อน โดยใช้ไอน้ำร้อนจัดๆ ฉีดพ่นตามคอก หรือ อบด้วยความร้อนจัดๆ
2.เผาทุ่งหญ้า เพื่อฆ่าเห็บวัยต่างๆ ที่อยู่บนพื้นดิน
3.ป้องกันไม่ให้สัตว์ที่อื่นเข้ามาปล่อยเห็บ หรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้ออกไปติดเห็บจากที่อื่น โดยใช้เครื่องกั้นบริเวณ
ตัวอย่างยาที่ใช้ฆ่าเห็บสำหรับสัตว์เล็ก และ สัตว์ใหญ่
1.โซเดียมอาซีไนท์ (Sodium arsenite) 0.16-0.2% นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ราคาถูก ประสิทธิภาพสูง แต่หากใช้น้ำยาเข้มข้นเกินไป อาจจะระคายเคืองต่อผิวหนังสัตว์ และเมื่อใช้ไปนานๆ เห็บจะเกิดอาการดื้อยา (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ระงับการนำเข้า ผลิต และ จำหน่าย โซเดียมอาซีไนท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 โดยมติคณะกรรมการวัตถุมีพิษ เนื่องจากเป็นสารที่มีความคงตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน และทำให้สติปัญญาของเด็กเชื่องช้า)
2.แกมมา-บีเอชซี 0.2-0.5% มีประสิทธิภาพสูง ราคาถูกและใช้ควบคุมแมลงดูดเลือดชนิดอื่นได้อีกด้วย แต่มีข้อเสียคือ สลายตัวเร็ว และ ถ้านำมาละลายในบ่อสำหรับจุ่มตัวสัตว์ ทำให้ประสิทธิภาพของการฆ่าเห็บลดลง แก้โดยเติมจุนสีลงไปด้วย 0.03% เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรีย
3.ทอคซาฟีน (Toxaphene) 0.25-0.55% สามารถฆ่าเห็บได้ทุกชนิด ยกเว้นเห็บที่ดื้อต่อยานี้แล้ว ยานี้มีความหนืด จึงติดตามขนและตัวสัตว์ได้นาน
4.สารเคมีกำจัดแมลงประเภทออร์แกนโนฟอสฟอรัส (Organophosphorus) เช่น คูมาฟอส (Coumaphos) 0.05% ไดอะซีนอน (Diazinon) 0.05% และ อะซุลทอล (Asuntol) 0.1-0.3% เป็นต้น

เหา (Louse)

ดูดเลือดได้ทั้งตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย ถ้าดึงเหาออกจากสัตว์ มันจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็ตาย เหาหากินอยู่ในวงจำกัด และเฉพาะแห่งเท่านั้น เช่น เหาที่อยู่บนศีรษะคน ก็จะหากินบนศีรษะเท่านั้น ไม่ลงมาอยู่ตามร่างกาย เหาเป็นตัวก่อให้เกิดความรำคาญ ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังของสัตว์เป็นอย่างมาก สัตว์ไม่สามารถพักผ่อนได้เต็มที่ ทำให้เกิดความอ่อนเพลีย ซูบผอม น้ำหนักลด กินอาหารไม่ได้เต็มที่ และมีผลทำให้โรคแทรกได้ง่าย เหาแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นพาราไซด์ของสัตว์ปีก เช่น เหาไก่ (ไรไก่)
กลุ่มที่ 2 เป็นพาราไซด์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เหาสุนัข ม้า โค คน

เหาที่เป็นเหาของคนมี 2 ชนิด
เหาบนศีรษะคน ติดต่อได้ง่าย หากใช้ของร่วมกัน เช่น หวี แปรง และอุปกรณ์การแต่ง
เหาที่พบตามร่างกาย หรืออาจเกาะบนเสื้อผ้าที่สวมใส่
เหาที่พบที่ขนบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เรียกว่า โลน ซึ่งอาจพบได้บนขนรักแร้ หนวด เครา ขนตา และ คิ้ว อาการคันจะรุนแรง

การรักษา
เหาไก่ (ไรไก่)

ใช้น้ำยานิโคติน (Nicotine) 40% ใช้น้ำยา 400 กรัม ต่อเนื้อที่ 50 ตารางเมตร โดยทาตามกรงไก่หรือเล้าไก่ แล้วใช้ผ้าพลาสติก หรือ ผ้าใบคลุมไว้ให้ทั่ว เปิดส่วนหน้าไว้บางส่วน เพื่อจะได้มีอากาศหายใจให้ไก่นอนในกรงนี้ 2 คืน และทำซ้ำอีกครั้ง โดยทิ้งระยะห่าง 10 วัน โรยตามตัว คอ สะโพก ใต้ปีก หาง และบริเวณก้นด้วยผงโซเดียม ฟลูออไรด์ (Solium fluoride) หรืออาจเอาไก่มาคลุกกับยานี้ก็ได้ ใช้เซพวิน หรือ คาร์บาริล (Sevin, Carbaryl) 5% หรือมาลาไธออน 0.1% ฉีดพ่น
จุ่มไก่ลงในน้ำยาฆ่าแมลงต่างๆ จะให้ผลดี แต่เปลืองแรงมาก

เหาโค กระบือ และสัตว์อื่น
ยาที่ให้ผลดีที่สุด คือ แกมมา-บีเอชซี 0.2-0.5%, ทอคซาฟีน 0.25-0.55% เป็นต้น ส่วนโล่ติ๊นสำหรับสัตว์เล็กใช้เป็นผง 1% โดยผสมกับแป้ง (Talc) ไม่นิยมใช้กับสัตว์ใหญ่
ข้อยกเว้นสำหรับแมว : ห้ามใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภท คลอริเนเนต ไฮโดรคาร์บอน (Chlorinated hydrocarbon) ทุกชนิด เช่น เอ็นดริน ฯลฯ แต่ให้ใช้โล่ติ๊น 3% แทน

เหาคน – เหาตามร่างกาย

ใช้ลินเดน (Lindane) 1% โรยตามตัว
ใช้ยาจำพวกไพเรทริน หรือ อัลเลทริน (Pyrethrin, Allethrin) แต่ต้องทำซ้ำทุกสัปดาห์จนกว่าจะหาย
เหาบนศีรษะ และตัวโลน

ใช้ยาจำพวกไพแรทริน (Pyrethrin) เช่น เปอร์เมทริน (Permethrin) ชนิดผง 0.5% โรยบนศีรษะ สัปดาห์ละครั้ง
เหาบนศีรษะเด็ก ใช้วิธีโกนผมทิ้งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ข้อควรระวังสำหรับผู้ใช้สารเคมีป้องกัน กำจัดศัตรูพืชและสัตว์
สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ทุกชนิดเป็นวัตถุมีพิษ ย่อมเป็นอันตรายต่อ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หากนำไปใช้ผิดวิธี หรือ ผิดวัตถุประสงค์ ควรใช้เฉพาะ กรณีจำเป็นเท่านั้น และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของตัวเบียฬควรปรึกษากับผู้มีความรู้ เช่น หากใช้กับสัตว์ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ เป็นต้น การใช้ห้ามเกินปริมาณที่กำหนด หรือ นอกเหนือคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ข้อควรระวังอื่นๆได้แก่
1. ก่อนใช้ อ่านฉลากที่แนบมาให้เข้าใจโดยละเอียดก่อนการใช้ทุกครั้ง
2. สวมเสื้อผ้า หมวก แว่นตา ถุงมือ และ หน้ากากให้มิดชิด ก่อนการผสมและพ่นสาร
3. ห้ามสูบบุหรี่ หรือรับประทานอาหารขณะทำงาน
4. ใช้เครื่องพ่นที่ไม่ชำรุด หรือ มีการรั่วไหล ทำให้เปรอะเปื้อนผู้ใช้
5. ผู้พ่นควรอยู่เหนือลม และไม่ให้ละอองปลิวไปถูกคน อาหาร เครื่องดื่มของผู้ที่อยู่ข้างเคียง
6. ขณะปฏิบัติงาน หากร่างกายเปียกเปื้อนสารเคมี จะต้องรีบล้างและฟอกสบู่ให้สะอาดอย่างรวดเร็ว
7. เมื่อพ่นเสร็จแล้วจะต้องอาบน้ำ ฟอกสบู่ และ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทุกครั้ง
8. หากใช้ป้องกันศัตรูพืช ผัก ผลไม้ ควรใช้ชนิดที่สลายตัวเร็ว ไม่ควรเก็บเกี่ยวผักผลไม้ นั้นก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้บนฉลาก และไม่เข้าไปในบริเวณที่ฉีดพ่นสารเคมี โดยไม่จำเป็น
9. การขนส่ง และ การเก็บรักษา ควรแยกออกจากสิ่งของอย่างอื่นโดยเฉพาะอาหาร และ บรรจุในภาชนะที่ห่อหุ้มแข็งแรง
10. ห้ามนำภาชนะที่บรรจุสารเคมี ที่ใช้หมดแล้วมาล้าง นำไปบรรจุสิ่งของอย่างอื่นเป็นอันขาด ให้ทุบทำลายในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ แล้วกลบดินให้มิดชิด
11. สารเคมีที่เหลือใช้ หรือ จะไม่ใช้ต่อไป ห้ามเทลงในแหล่งน้ำเป็นอันขาด ให้เทใส่หลุมลึกๆ ที่มีปูนขาวรองก้นหลุม และ อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ
12. ห้ามเอาภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นภาชนะอัดความดัน เช่น สเปรย์ฉีดฆ่ายุงไปเผา เพราะจะทำให้ระเบิดได้
13. หากสารเคมีหก หรือ รั่วไหลออกมา ให้ใช้ดิน หรือ ขี้เลื่อยดูดซับ หากรั่วไหลมากให้ใช้ปูนขาวหรือ ขี้เถ้าดูดซับ แล้วนำไปฝังดินในที่ๆห่างไกลที่อยู่อาศัย และแหล่งน้ำ
14. หากได้รับพิษจากสารเคมีให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นบนฉลากก่อน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด พร้อมกับนำภาชนะบรรจุสารเคมีนั้นไปให้แพทย์ดูด้วย

การเลือกซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และสัตว์ จะต้องเลือกชนิดที่มีฉลากถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ คือ
มีเครื่องหมายหัวกระโหลกไขว้ และมีคำว่า "วัตถุมีพิษ" เป็นอักษรสีแดง หรือ ดำ มีชื่อผู้ผลิต และ แหล่งผลิต มีชื่อทางเคมี ชื่อสามัญของสารออกฤทธิ์ และ ชื่อทางการค้า ระบุปริมาณของสารออกฤทธิ์ และสารอื่นๆที่ผสมอยู่ บอกวันหมดอายุการใช้ วิธีใช้ (เฉพาะสารเคมีบางชนิดที่สลายตัวได้) มีคำอธิบาย ประโยชน์ วิธีใช้ การเก็บรักษา พร้อมคำเตือน มีคำอธิบายอาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้น และคำแนะนำสำหรับแพทย์

สำหรับข้อความในข้อ 6 และ 7 จะพิมพ์ไว้ในใบแทรกกำกับไว้กับภาชนะก็ได้

ที่มา : หนังสือความรู้สิ่งเป็นพิษ ตอนที่ 3 พ.ศ.2530 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หน้าที่ 21-28