บทความตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงวิธีการทางชีววิทยากันบางส่วนกันไปแล้ว ในครั้งนี้เรามารู้จักอีกหลายวิธีของการควบคุมทางชีววิทยาดังนี้
- เชื้อรา (Fungi) เชื้อราหลายสกุลพบว่ามีผลในการกำจัดยุงได้ โดยบางชนิดพบว่าสามารถเพิ่มปริมาณในตัวของลูกน้ำยุงได้ ทำให้ลูกน้ำตาย แต่วิธีการใช้เชื้อรานี้พบว่ายังมีปัญหาอยู่บ้างทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต เพราะต้องทำให้ได้เหมือนที่เชื้อราดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติ ปัญหาทางด้าน วงจรชีวิต และรูปแบบการผลิตต้องเหมาะสมด้วย ตัวอย่างของเชื้อราได้แก่ เชื้อราในสกุล Metarhizium, Tolypocladium, Penicillium เป็นต้น
- แบคทีเรีย (Bacteria) แบคทีเรียเป็นจุลินทรีย์ที่นิยมนำมาใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงได้ผลดี แบคทีเรียที่นำมาใช้เป็นสายพันธุ์ Bacillus thuringiensis serotype H-14 (หรือ israelensis) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Bti การ
เกิดพิษของแบคทีเรียเกิดขึ้นโดย เมื่อลูกน้ำกินแบคทีเรียเข้าไป สารพิษจะทำปฏิกิริยาทำให้เกิดความเป็นพิษในกระเพาะอาหาร ทำให้ลูกน้ำยุงตายได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นที่ใช้ ลำตัวของลูกน้ำยุงที่ตายจะมีสีซีด ปัจจุบันมีการผลิตแบคทีเรียนี้เป็นอุตสาหกรรม ในรูปแบบผงละลายน้ำ เม็ดหรือออกมาในรูปของเหลว สารพิษสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ แต่ข้อเสียคือไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ในธรรมชาติ อาจต้องใช้ร่วมกับสารเคมี แต่สารเคมีที่ใช้นี้มีความปลอดภัยสูงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม แบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งคือ Bacillus sphaericus(Bs) สามารถสร้างสปอร์เช่นเดียวกัน ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ แต่จะเพิ่มจำนวนได้เองในแหล่งน้ำสะอาดและแหล่งน้ำสกปรกที่มีอินทรียวัตถุสูงและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญแต่ไม่สามารถป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงลายได้
- โปรโตซัว (Protozoa) สามารถทำลายลูกน้ำยุงได้ แต่ประสิทธิภาพจะช้ากว่าแบคทีเรีย
- ไมโครพลาสมา (Mycoplasma) สกุล Spiroplasma สามารถใช้ควบคุมยุงลายได้ แต่ประสิทธิภาพจะช้า ทำให้ลูกน้ำยุงตายระหว่างการเจริญเติบโต หรือถ้ากลายเป็นตัวเต็มวัยได้จะทำให้บินไม่ได้หรือมีความผิดปกติ
- ไวรัส (Virus) เชื้อ densovirus เป็นเชื้อที่มีอยู่แล้วในยุงลายบ้าน