แมลงด้วงน้ำมันอันตราย (blister beetle)

นายวิชัย ปราสาททอง

เมื่อปลายปี 2532 ปรากฏข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีประชาชนได้รับอันตรายจากการบริโภคแมลงชนิดหนึ่ง คือ ด้วงน้ำมัน ครั้งแรกเกิดที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ชาวบ้านนำด้วงน้ำมัน ( ด้วงก้นกระดก ) มาคั่วเกลือรับประทานแกล้มเหล้า 7-8 ตัว แล้วเสียชีวิต ครั้งหลังเกิดที่อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เด็ก 2 คนนำด้วงน้ำมันที่จับได้จากต้นแคมาเผารับประทาน เด็กที่รับประทาน 3 ตัว เสียชีวิต ส่วนเด็กที่รับประทาน 2 ตัว มีอาการสาหัส ทั้งสองครั้งมีอาการพิษเหมือนกันคือ หลังจากรับประทาน 1-2 ชั่วโมง มาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียนมีเลือดปนออกมา อุจจาระและปัสสาวะปนเลือด ความดันต่ำ หมดสติและเสียชีวิต

ด้วงก้นกระดก

ด้วงน้ำมันเป็นแมลงปีกแข็ง พบในประเทศไทย 4 สกุล 13 ชนิด ได้แก่ Epicauta, Mylabris, Cissites และ Eletica ชนิดที่เกิดเหตุที่จังหวัดลำปาง และจังหวัดมหาสารคาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mylabris phalerata Pall. และมีชื่อตามท้องถิ่นว่า ด้วงไฟถั่ว เต่าบ้า แมงไฟเดือนห้า ด้วงก้นกระดก แมลงส้มดำ มีลำตัวยาวประมาณ 2.7 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.0 เซนติเมตร ลำตัวและหนวดมีสีดำ พื้นปีกสีดำมีแถบสีส้มหรือสีเหลืองคาดตามขวางของลำตัว 3 แถบ (ดังรูป) ตัวเต็มวัยจะหากินอยู่บนพืชตระกูลถั่วหรือต้นฝ้าย กระเจี๊ยบแดง ปอแก้ว และไม้ดอกต่างๆ เมื่อแมลงชนิดนี้ถูกรบกวนหรือถูกต้องตัวจะขับของเหลวสีเหลืองอ่อนออกจากข้อต่อของส่วนขา หากถูกผิวหนังจะเป็นตุ่มพุพองอักเสบ และหากรับประทานอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากในของเหลวที่ขับออกมามีสารแคนทาริดิน (cantharidin) ด้วงน้ำมัน 1 ตัวมีแคนทาริดิน ประมาณร้อยละ 1.4 หรือ 7 มิลลิกรัม สารชนิดนี้นอกจากจะพบในด้วงน้ำมันชนิดนี้แล้วยังพบในแมลงชนิดอื่นๆ ได้อีกแต่มีปริมาณแคนทาริดินแตกต่างกันไป

แคนทาริดิน

แคนทาริดิน เป็นสารอินทรีย์ประเภท furan ในสภาพที่บริสุทธิ์เป็นผลึกแวววาวระเหิดที่อุณหภูมิประมาณ 120 องศาเซลเซียส มีจุดหลอมเหลวระหว่าง 216-218 องศาเซลเซียส ละลายน้ำได้น้อย ละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนังและเยื่อเมือกในร่างกายเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไม่ถูกเปลี่ยนเป็นสารอื่น และจะเกิดอาการพิษ ซึ่งความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับอาการพิษจากการได้รับแคนทาริดิน

  1. พิษเฉียบพลัน (acute poisoning) ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นตุ่มพุพอง หากรับประทานเข้าไปจะเกิดอาการคล้ายถูกไฟไหม้พอง คออักเสบ กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อุจจาระร่วง อาเจียนเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด สลบและเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลว
  2. พิษเรื้อรัง (chronic poisoning) อาการคล้ายพิษเฉียบพลัน แต่รุนแรงน้อยกว่า
    หากรับประทานแคนทาริดิน ในขนาดประมาณ 50-70 มิลลิกรัม จะทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิตได้

การรักษาผู้ที่ได้รับอันตรายจากการบริโภคแคนทาริดิน

  1. ล้างท้องเพื่อให้สารพิษออกจากร่างกายหรือใช้ผงถ่าน (activated charcoal) ดูดซับสารพิษ
  2. รักษาระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวและการช็อค โดยการให้เลือดและน้ำเกลือทางเส้นเลือดดำ
  3. ป้องกันอันตรายที่เกิดกับไต โดยทำให้มีการถ่ายปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ด้วยการให้ของเหลวแมนนิทอล (mannitol) และยาขับปัสสาวะ อื่นๆ เข้าทางเส้นเลือดดำ

ที่มา : หนังสือความรู้สิ่งเป็นพิษ ตอนที่9 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หน้าที่ 20-24.

เอกสารอ้างอิง

  1. สมหมาย ชื่นราม. 2533. แมลงและสัตว์ศัตรูพืช. ใน : เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 7, 20-22 มิ.ย. 2533. ณ ห้องประชุมกรมวิชาการเกษตร, บางเขน กรุงเทพฯ.
  2. น.พ. สุภัทร สุจริต. 2531. กีฏวิทยาการแพทย์. พิศิษฐ์การพิมพ์, กรุงเทพ. หน้า 555-558.
  3. Dreisbach, R.H. and Robertson, W.O. 1987. Handbook of poisoning. 12th ed., Appleton & Lange, California, p. 429-430.
  4. Windholz, M. 1976. The Merck Index. 9th ed., Merck & Co., Inc., Raway, New Jersey, U.S.A., p. 1748.
  5. Moffat, A.C. 1986. Clarke's isolation and identification of drugs, 2nd ed., the Pharmaceutical Press, London, p. 425-426.

บทความคัดลอกจาก : ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา